ประเมินภาวะการขาดสารอาหารในผู้สูงอายุ

ประเมินภาวะการขาดสารอาหารในผู้สูงอายุ

Masthed image
Masthed image
Masthed image

เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นทำให้ร่างกายเกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุขภาพของช่องปากและระบบทางเดินอาหาร ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นสาเหตุให้ผู้สูงอายุทานอาหารได้น้อยลงจนนำไปสู่ภาวะการขาดสารอาหาร หรือภาวะโภชนาการต่ำ เป็นภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน หรือได้รับในปริมาณที่น้อยกว่าความต้องการของร่างกาย ในบางกรณีอาจเกิดจากร่างกายไม่สามารถดูดซึมและนำสารอาหารเหล่านั้นไปใช้ได้ ร่างกายจึงขาดโปรตีนและพลังงานจนทำให้ร่างกายซูบผอม ไร้เรี่ยวแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ง่วงซึม เกิดจ้ำเลือดตามร่างกายได้ง่าย และภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ดูแลต้องทราบสาเหตุและสามารถสังเกตุอาการเบื้องต้น เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงของผู้สูงอายุ

สาเหตุของการขาดสารอาหาร 

ภาวะการขาดสารอาหารในผู้สูงอายุ ไม่ใช่การเจ็บป่วยที่สามารถมองเห็นความผิดปกติได้โดยทันที แค่ต้องใช้เวลาสังเกตอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง การขาดสารอาหารจึงเป็นภาวะที่สามารถป้องกันได้ก่อนที่อาการจะลุกลามจนกลายเป็นสาเหตุของโรคอื่นๆ ตามมา ซึ่งหากรู้ถึงสาเหตุของการนำไปสู่การขาดสารอาหาร ก็จะสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที โดยสาเหตุของการขาดสารอาหารมาจาก 3 สาเหตุหลัก ดังนี้  

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ เช่น ประสาทสัมผัส ทำให้การมองเห็น การรับรส การได้กลิ่น การบดเคี้ยวไม่มีประสิทธิภาพดังเดิม ความเปลี่ยนแปลงในระบบทางเดินอาหารที่ทำให้กระเพาะอาหารใช้เวลาบีบตัวนานขึ้น ส่งผลให้ผู้สูงอายุทานอาหารได้น้อยลงและอิ่มเร็วขึ้น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในผู้สูงอายุมีผลให้ความอยากอาหารน้อยลง รู้สึกเบื่อหน่าย เกิดความวิตกกังวล และอาจมีภาวะซึมเศร้า 

อาการเจ็บป่วย เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีอาการป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ซึ่งผลข้างเคียงของโรคและยารักษาที่ต้องทานเป็นประจำ อาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้ผู้ป่วยไม่อยากอาหาร  

ปัจจัยทางสังคม เช่น การถูกทอดทิ้งจากลูกหลานให้ใช้ชีวิตเพียงลำพัง การทานอาหารเพียงคนเดียวเป็นประจำ ขาดการเข้าสังคม ภาวะทางเศรษฐกิจ หรือสูญเสียอาชีพและความมั่นคงในชีวิตไป 

วิธีการประเมิน หรือคัดกรองภาวะขาดสารอาหารในผู้สูงวัย

ในเบื้องต้นเราสามารถสังเกตอาการขาดสารอาหารในผู้สูงอายุได้จากสัญญาณที่บ่งชี้ เช่น น้ำหนักตัวลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ ผมร่วง ผิวซีด วิงเวียนศีรษะง่าย หน้ามืด ใจสั่น เป็นลมหมดสติ มีความรู้สึกเพลียและอยากนอนอยู่ตลอดเวลา ไม่สบายได้ง่าย และใช้เวลาในการฟื้นตัวช้ากว่าปกติ มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย แขนขาชา รวมไปถึงอาการทางด้านจิตใจ เช่น ไม่มีสมาธิ จิตใจวอกแวก หงุดหงิดฉุนเฉียว เชื่องช้า และซึมเศร้า เป็นต้น

การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะขาดสารอาหารให้กลับมามีสุขภาพดี 

ภาวะขาดสารอาหารในผู้สูงอายุ สามารถดูแลรักษาได้ด้วยการปรับปริมาณ รวมทั้งพฤติกรรมการทานอาหาร และคัดสรรเมนูอาหารให้เหมาะสม ดังนี้ 

  • เพิ่มปริมาณและสัดส่วนของอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการ เช่น เพิ่มโปรตีนในแต่ละมื้อ โดยเลือกเป็นเนื้อปลา เนื้อไก่ ไข่ขาว นม หรือเต้าหู้  ที่ย่อยง่ายและให้โปรตีนสูง เพิ่มไขมันดีที่ให้พลังงานสูง เช่น ใช้น้ำมันมะกอกในการปรุงรส รวมถึงเสริมด้วยธัญพืช เช่น ลูกเดือย หรือถั่วแดง  

  • ควรเพิ่มจำนวนมื้ออาหารต่อวัน โดยเสริมอาหารว่างระหว่างมื้อ และเลือกเมนูอาหารว่างที่มีประโยชน์ เช่น ผักและผลไม้ที่อ่อนนุ่ม กลืนง่าย เพราะการเพิ่มมื้ออาหารให้ทานบ่อยขึ้นแต่ทานทีละน้อย จะทำให้ทานอาหารได้มากขึ้น 

  • งดอาหารที่ไม่มีประโยชน์และทำให้รู้สึกอิ่มโดยไม่ได้รับสารอาหาร เช่น ชา กาแฟ ขนมอบต่างๆ  

  • จัดสรรเมนูที่หลากหลาย ให้ผู้สูงอายุทานอาหารที่ไม่จำเจ และรู้สึกว่ามีตัวเลือกมากขึ้น  

  • ให้ผู้สูงอายุได้ทานอาหารร่วมกับลูกหลาน หรือกลุ่มเพื่อน เพื่อให้รู้สึกเจริญอาหารและมีความสุขระหว่างทานอาหาร หากต้องรับประทานคนเดียวอาจทำให้รู้สึกหดหู่ใจและโดดเดี่ยว  

  • จัดภาชนะให้สวยงาม และเลือกใช้ภาชนะที่สีสันสดใส 

  • ตรวจสุขภาพช่องปากและฟันอยู่เสมอ เพราะอาการปวดฟันอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทานอาหารได้น้อยลง 

  • เสริมด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสูตรครบถ้วน ที่ให้สารอาหารครบถ้วนและรับประทานง่าย เพื่อเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบย่อยอาหารที่ดี 

 

 

TH.2022.26787.ENS.1(v1.0)©2022Abbott

บทความที่เกี่ยวข้อง

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง