ปัจจัยที่เสี่ยงต่อการหกล้มในผู้ใหญ่

ปัจจัยที่เสี่ยงต่อการหกล้มในผู้ใหญ่

เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายจะเกิดความเสื่อมถอย มวลกล้ามเนื้อร่างกายลดลง ทำให้เสียสมดุลในการเคลื่อนไหว การหกล้มในผู้สูงวัยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายและใกล้ตัวมาก แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การเกิดภาวะแทรกซ้อนและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากผู้สูงวัยไม่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและการป้องกันอย่างเหมาะสม

อุบัติเหตุการหกล้มในผู้ใหญ่เกิดจากอะไร

นอกจากอันตรายที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บแล้ว สิ่งที่ควรให้ความสำคัญและเพิ่มความระมัดระวังอย่างมากในการดูแลผู้สูงวัยคือ อุบัติเหตุจากการหกล้ม จากสถิติพบว่าเมื่อผู้สูงวัยมีอายุ 65 ปีขึ้นไป อัตราความเสี่ยงต่อการหกล้มนั้นสูงถึง 28-35% และเมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป สถิติจะเพิ่มขึ้นเป็น 32-42% ทำให้การหกล้มเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของอาการบาดเจ็บที่อาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตที่เราไม่ควรมองข้าม

อีกสาเหตุสำคัญของการหกล้มมาจากภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยในผู้สูงวัย ที่เกิดจากการขาดโปรตีนและแคลเซียม ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่มีส่วนช่วยชะลอการสลายของมวลกล้ามเนื้อและภาวะกระดูกพรุน เมื่อร่างกายขาดสารอาหารที่มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อและให้พลังงาน ก็จะทำให้เกิดการอ่อนแรงจนทำให้หกล้มได้ง่าย หรือฟื้นตัวได้ช้าเนื่องจากภูมิคุ้มกันบกพร่อง และหากมีแผลหรืออาการฟกช้ำก็จะเกิดความเสี่ยงของแผลติดเชื้อร่วมด้วย

ปัจจัยเสี่ยงการหกล้มในผู้ใหญ่

การหกล้มในผู้สูงวัยเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นร่างกายเริ่มเสื่อมถอย มีการสลายของมวลกล้ามเนื้อ อาจเกิดภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยซึ่งส่งผลต่อการทรงตัวและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยสามารถแบ่งปัจจัยความเสี่ยงได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเนื่องจากความเสื่อม เช่น มวลกล้ามเนื้อสลาย เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อจะสลายเร็วขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น กระดูกพรุนและเปราะแตกได้ง่ายจากการขาดแคลเซียม รวมถึงน้ำหนักตัวที่ลดลงจากการขาดสารอาหาร นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงด้านสายตาอาจทำให้มองเห็นไม่ชัด และโรคประจำตัวบางอย่างที่มีความเสี่ยงต่อการหกล้มได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน

นอกจากนี้ การกระตุ้นของสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดสรรพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านที่ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย มีพื้นที่โล่งน้อย มีสิ่งกีดขวางที่กลายเป็นอุปสรรคในการเคลื่อนไหว พื้นห้องน้ำที่ลื่นและไม่มีราวจับเพื่อพยุงตัว รวมถึงผลค้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาต้านซึมเศร้า หรือยานอนหลับ ที่อาจทำให้เกิดอาการมึนงงจนเสียการทรงตัว นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุหกล้ม

การดูแลสุขภาพผู้สูงวัยเพื่อป้องกันการหกล้ม

การป้องกันและลดอัตราเสี่ยงของการหกล้มในผู้สูงวัย ควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพเบื้องต้น เช่น การออกกำลังกายง่าย ๆ ในช่วงเช้า-เย็น โดยการเดินเล่นรอบบริเวณบ้าน เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อและสร้างสมดุลร่างกายขณะเคลื่อนไหว การฝึกลุก-นั่งอย่างช้า ๆ เพื่อให้เกิดความเคยชิน และไม่ลุกขึ้นเร็วเกินไปจนทำให้เกิดอาการหน้ามืดและหกล้ม การปรับแผนผังบ้านและพื้นที่ใช้สอยให้สอดคล้องต่อชีวิตประจำวันของผู้สูงวัย เช่น ติดราวเกาะเดิน การติดแผ่นกันลื่น และหลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได หรือใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการหกล้ม เช่น วอล์คเกอร์ หรือไม้เท้าช่วยพยุง

การเสริมสร้างโภชนาการเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการออกกำลังกาย เพราะการมีโภชนาการที่ดีเป็นพื้นฐานของการมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ผู้สูงวัยจึงควรได้รับสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ในทั้ง 3 มื้ออาหาร หรือเสริมด้วยอาหารสูตรครบถ้วนในรูปแบบของการชงดื่ม ซึ่งเหมาะกับผู้สูงวัยที่ต้องการอาหารที่ย่อยง่าย เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะการขาดสารอาหารในผู้สูงวัย และมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ สร้างสมดุลให้ร่างกาย รวมถึงมวลกระดูกที่สลายไปเมื่ออายุมากขึ้น 

 

 

TH.2022.26784.ENS.1(v1.0)©2022Abbott

บทความที่เกี่ยวข้อง

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง