โภชนาการที่ดีสำหรับผู้สูงอายุติดเตียง

โภชนาการที่ดีสำหรับ
ผู้สูงอายุติดเตียง

Masthed image
Masthed image
Masthed image

การรับประทานอาหารให้ครบถ้วน 5 หมู่ในผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องด้วยปัญหาสุขภาพที่ทำให้การรับประทานอาหารมีข้อจำกัดมากยิ่งขึ้น เช่น ปัญหาในการเคี้ยว กลืน ระบบทางเดินอาหาร การรับประทานยาในปริมาณมาก ซึ่งมีผลให้การรับรสเปลี่ยนแปลงไป

การดูแลผู้สูงอายุติดเตียงจึงต้องอาศัยความเข้าใจและควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจะเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยติดเตียง ควบคู่ไปกับการเลือกโภชนาการที่ดีจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

อาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยติดเตียง 

ภาวะผู้ป่วยติดเตียงเป็นภาวะที่พบได้ในผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น หลังการผ่าตัดใหญ่ การป่วยเป็นโรคเรื้อรัง การประสบอุบัติเหตุ หรือในผู้ที่อายุมากจนร่างกายไร้เรี่ยวแรง เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวตัวเองได้ กล้ามเนื้อก็จะลดลง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือโรคแทรกซ้อนได้ง่าย โดยอาการที่สามารถพบได้บ่อยในผู้ป่วยติดเตียง ได้แก่  

  • แผลกดทับ เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยนอนทับบริเวณปุ่มกระดูกเป็นเวลานาน ทำให้เซลล์ผิวหนังบริเวณที่ถูกกดทับขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงจนกลายเป็นเนื้อตาย ถือว่าเป็นแผลชนิดเรื้อรัง หายได้ยาก และมีความเสี่ยงที่จะเป็นแผลติดเชื้อสูง โดยส่วนมากแผลกดทับจะเกิดขึ้นที่บริเวณก้นกบ ท้ายท้อย สะบัก ส้นเท้า หรือ ข้อศอก ดังนั้น เพื่อป้องกันแผลกดทับจึงควรพลิกตัวผู้ป่วยบ่อย ๆ อย่างน้อยทุก ๆ 2 ชั่วโมงเพื่อให้เลือดได้ไหลเวียน แผลกดทับเมื่อปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจทำให้ผิวหนังลอกจนถึงชั้นกล้ามเนื้อและกลายเป็นแผลติดเชื้อได้ 

  • ภาวะกลืนลำบาก เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจากความผิดปกติในช่องปากและคอหอยเพราะโรคหลอดเลือดในสมองหรือภาวะสมองเสื่อม ซึ่งภาวะกลืนลำบากจะทำให้ผู้ป่วยเกิดการสำลักและกลืนอาหาร 
    ได้ยาก จนอาจรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบหรือติดเชื้อได้ หรือหากอาหารรับประทานมีขนาดใหญ่เกินไป อาจทำให้ชิ้นอาหารไปปิดหลอดลมได้ ดังนั้น จึงควรป้องกันด้วยการปรับเตียงขึ้นระดับ 45 - 90 องศา และนำหมอนมาวางพิงบเสริมบริเวณหลังให้อยู่ในท่าที่สะดวกต่อการกลืน 

  • ภาวะสุขภาพจิต เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไปของผู้ป่วยแล้วภาวะจิตใจอาจได้รับผลกระทบได้เช่นกัน เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตได้แบบเดิม ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย 
    ต่อชีวิต เศร้าหมอง ไม่สดใส หรืออาจมีอารมณ์ฉุนเฉียวผิดไปจากปกติ รู้สึกสูญเสียความเป็นตัวเอง ภาวะเหล่านี้ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และพยายามหากิจกรรมสันทนาการอื่น ๆ เพื่อคลายความกังวลและความเหงาของผู้ป่วย แต่หากอาการมีความรุนแรงมากขึ้นควรได้รับคำปรึกษาจากจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ  

ข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยติดเตียง  

เมื่อต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียงข้อควรระวังที่สำคัญอย่างยิ่งคืออาการทั้ง 3 แบบที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยติดเตียง เช่น การนอนท่าเดิมเป็นเวลานานเกินไปจนทำให้เกิดแผลกดทับ การคัดสรรอาหารที่ไม่เหมาะสม หรือท่านั่งในการรับประทานที่เหมาะสม จนทำให้เกิดอาการสำลักอาหาร รวมถึงการเฝ้าระวังและสังเกตสุขภาพจิตของผู้ป่วย  

ความสะอาด เป็นหนึ่งในข้อควรระวังที่จำเป็นต้องให้ความใส่ใจอย่างยิ่ง ทั้งความสะอาดของร่างกายผู้ป่วยเองและความสะอาดของสิ่งแวดล้อม การทำความสะอาดร่างกายผู้ป่วย และการดูแลหลังการขับถ่าย ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการใส่สายสวน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่อาจะติดเชื้อได้ง่ายกว่าผู้ป่วยทั่วไป นอกจากการเช็ดทำความสะอาดร่างกายทุกวันแล้ว ควรทำการเปลี่ยนสายสวนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 - 4 ครั้ง และทำความสะอาดสายสวนด้วยน้ำสบู่อ่อน ๆ รวมถึงมีการสังเกตลักษณะปัสสาวะและอุจจาระของผู้ป่วยอยู่เสมอ  

นอกจากนี้ การทำความสะอาดช่องปากและฟันเป็นวิธีการป้องกันการติดเชื้ออีกวิธีหนึ่ง โดยให้ผู้ป่วยบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือหากผู้ป่วยไม่สามารถทำได้ ควรเช็ดบริเวณลิ้นและฟันด้วยผ้าก๊อซชุบน้ำอุ่น ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะมีสภาวะติดเตียง แต่การพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอก็ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน  

โภชนาการสำหรับผู้ป่วยติดเตียง 

นอกจากการเฝ้าระวังอาการต่าง ๆ แล้ว การดูแลด้านโภชนาการเพื่อป้องกันภาวะขาดสารอาหาร ก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการดูแลสุขภาพร่างกาย เมื่อผู้ป่วยติดเตียงมีภาวะการกลืนลำบาก ซึ่งนอกจากสารอาหารที่ครบถ้วนแล้วจำเป็นต้องเลือกอาหารที่กลืนง่ายและมีความละเอียดสูง เช่น น้ำซุปหรืออาหารปั่น เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารไปติดหลอดลม โดยควรพิจารณาให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ดังนี้ 

  • โปรตีน ที่ผู้ป่วยได้รับควรเป็นเนื้อไก่หรือเนื้อปลา เนื่องจากมีโปรตีนสูง ย่อยง่าย และไขมันต่ำ ไข่ไก่ควรบริโภคอย่างน้อย 3 – 4 ฟองต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ควรเสริมโปรตีนเพิ่มเติมด้วยถั่วและธัญพืช เพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ 

  • คาร์โบไฮเดรต ที่ได้จากข้าวและแป้ง เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยควรได้รับในปริมาณที่พอดีและสัดส่วนน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับหมู่อื่น ๆ หรือไม่เกิน 2 ทัพพี ต่อมื้อ เนื่องจากร่างกายมีการเผาผลาญได้น้อยลง  

  • ผักและผลไม้ เป็นสิ่งที่ควรเสริมให้กับผู้ป่วยในทุกมื้อ โดยเลือกเป็นผลไม้ที่มีความนิ่ม กลืนง่าย และเส้นใยสูง เช่น กล้วย มะละกอ หรือ ส้ม 

  • ไขมัน ควรเลือกรับประทานเป็นไขมันดีที่ได้จากพืช เนื่องจากจะไม่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการท้องเฟ้อ หรือเสี่ยงต่อไขมันอุดตันในเส้นเลือด โดยหลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์ และบริโภคไขมันที่ได้จากน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันงาแทน 

ผู้ป่วยติดเตียงนั้นต้องการสารอาหารและใยอาหารอื่น ๆ เสริมนอกจากอาหารมื้อหลัก เช่น แคลเซียม วิตามิน เอ ดี และเค เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันภาวะการขาดสาร รวมถึงใยอาหารที่จำเป็นเพื่อกระตุ้นการขับถ่าย อาหารสูตรครบถ้วน ผู้ป่วยติดเตียงนั้นต้องการสารอาหารและใยอาหารอื่น ๆ เสริมนอกจากอาหารมื้อหลัก เช่น แคลเซียม วิตามิน เอ ดี และเค เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันภาวะการขาดสาร รวมถึงใยอาหารที่จำเป็นเพื่อกระตุ้นการขับถ่าย อาหารสูตรครบถ้วนจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการดูแลผู้ป่วยติดเตียงให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง  

 

 

TH.2022.26789.ENS.1(v1.0)©2022Abbott

บทความที่เกี่ยวข้อง

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง