โรคแทรกซ้อนเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวาน

โรคแทรกซ้อนเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวาน

Banner
Banner
Banner

มีการศึกษาพบว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วยเบาหวานจะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน นอกจากทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการทำงาน สูญเสียคุณภาพชีวิตและยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากมาย

โรคแทรกซ้อนเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวานมักเกิดในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมานานอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในผู้ที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังสามารถแบ่งออกเป็น

  • ภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดขนาดเล็ก
  • ภาวะแทรกซ้อนที่จอประสาทตา
  • ภาวะแทรกซ้อนที่ไต
  • ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่เส้นประสาท
  • ภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดขนาดใหญ่
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดแผลที่เท้าในผู้เป็นเบาหวาน

ภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดขนาดเล็ก

ทำให้ผู้ป่วยมีอาการชาที่ปลายเท้า ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดแผลที่เท้าในผู้เป็นเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตันร่วมด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยต้องถูกตัดนิ้วหรือตัดขาบางส่วน อันเป็นสาเหตุของการเกิดทุพพลภาพในอนาคต ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เส้นประสาท เช่น ระดับน้ำตาลในเลือด ภาวะความดันโลหิตสูง และการสูบบุหรี่ เป็นต้น

อาการแสดงของภาวะแทรกซ้อนที่เส้นประสาท  ผู้ป่วยอาจมีอาการชาที่ปลายมือปลายเท้าทั้งสองข้าง ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการปวดแสบปวดร้อน หรือปวดเหมือนถูกแทง ส่วนใหญ่อาการมักจะเกิดตอนกลางคืน ในระยะต่อมาอาการปวดจะลดลง แต่จะรู้สึกชาและการรับสัมผัสลดลง นอกจากนี้บางรายอาจมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขนาดเล็กของแขนและขาได้

ภาวะแทรกซ้อนที่จอประสาทตา

ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าประมาณร้อยละ 8 ของผู้ป่วยที่ตาบอดมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่จอประสาทตา และมีโอกาสที่จะตาบอดสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวานเกือบ 30 เท่า

อาการและอาการแสดงของภาวะแทรกซ้อนที่ตา

สายตามัวลงซึ่งเกิดจากการหักเหแสงของเลนส์ผิดปกติในขณะที่น้ำตาลในเลือดสูง หรือเกิดจากต้อกระจก หรือ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของจอประสาทตาที่เรียกว่า“เบาหวานขึ้นตา” ซึ่งภาวะดังกล่าว ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยตาบอดได้

เห็นเงาดำบังเวลามองภาพ ซึ่งเกิดจากมีเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา

มองเห็นภาพซ้อนซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อตาที่ควบคุมโดยเส้นประสาทสมองทำงานผิดปกติ

ภาวะแทรกซ้อนที่ไต

เป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตในผู้ป่วยเบาหวาน ทั้งเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานชนิดที่ 2 การดำเนินโรคของภาวะแทรกซ้อนที่ไต มีความสัมพันธ์กับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และการควบคุมระดับความดันโลหิต

อาการและอาการแสดงของภาวะแทรกซ้อนที่ไต  ระยะแรกผู้ป่วยจะไม่มีอาการ แต่จะตรวจพบ
โปรตีนอัลบูมินหรือไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะปริมาณเล็กน้อย คือ ตรวจพบโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะประมาณ 30 - 300 มิลลิกรัมต่อวัน ระยะต่อมาเมื่อปริมาณโปรตีนรั่วออกมามากขึ้น อาจสังเกตพบปัสสาวะเป็นฟองและมีอาการบวมได้ ในระยะนี้ จะตรวจพบความดันโลหิตสูงร่วมด้วย (ปริมาณโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะระยะนี้จะมีปริมาณมากกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวัน) หลังจากนั้นถ้ายังไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะส่งผลให้การทำงานของไตลดลงและเกิดภาวะไตวายเรื้อรังในที่สุด จนต้องรักษาด้วยการฟอกเลือด หรือล้างไต

โรคแทรกซ้อนจากหลอดเลือดใหญ่

มีการตีบตันของหลอดเลือดใหญ่ ที่สำคัญได้แก่ หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ สมอง ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย อัมพาต อัมพฤกษ์ หรือเกิดการตีบของหลอดเลือดไปเลี้ยงขาเกิดการปวดน่อง ถ้ามีการอุดตันของหลอดเลือด จนเกิดการตายของเนื้อเยื่อ ทำให้ต้องตัดขา นอกจากนี้ยังพบความดันโลหิตสูงได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะความดันโลหิตสูงชนิดซิสโตลิก (SYSTOLIC HYPERTENSION)

โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease)

ผู้ป่วยเบาหวานมีโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งสิ้นร้อยละ 18.7 โดยมีโรคหลอดเลือดสมอง ร้อยละ 4.4 และโรคหลอดเลือดหัวใจร้อยละ 8.1 ในขณะที่ผู้ป่วยเบาหวานที่เกิดโรคหัวใจจะมีภาวะแทรกซ้อนมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวสูงกว่าผู้ป่วยทั่วไป 1.5 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าเกือบ 2 เท่า

โรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular Disease)

อัตราความชุกของโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยเบาหวานเท่ากับร้อยละ 3.5 และส่วนใหญ่เป็น จากภาวะเส้นเลือดตีบ  พบว่า อายุเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองกล่าวคือผู้ป่วยอายุมากกว่า 70 ปีมีความเสี่ยงสูงถึง 3 เท่า ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญรองลงมาคือ ความดันโลหิตและระดับไขมันในเลือดผิดปกติ และอายุของผู้ป่วย

โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (Peripheral Vascular Disease)

ปัญหาเรื่องหลอดเลือดแดงส่วนปลายโดยเฉพาะที่ขาเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเพราะเป็นเหตุนำสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานต้องถูกตัด

แผลเบาหวานที่เท้า (Diabetic Foot Ulcer)

การเกิดแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน เป็นผลจากหลายปัจจัยร่วมกันซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการควบคุมเบาหวานไม่ดี ปัจจัยเหล่านี้ได้แก่ ความผิดปกติของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย และความผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลาย (peripheral neuropathy) ซึ่งนอกจากทำให้ผู้ป่วยเสียการรับรู้ความรู้สึกที่ป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บต่อเท้าและการทำงานของกล้ามเนื้อลดลง ยังทำให้เกิดการรับน้ำหนักที่ไม่สมดุลและเกิดการผิดรูปของเท้า จึงเกิดแผลบริเวณที่มีแรงกดทับจากน้ำหนักตัวได้ง่าย

นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ การทำงานของเม็ดเลือดขาวในการกำจัดเชื้อโรคจะลดลง ทำให้เกิดการติดเชื้อและการลุกลามได้รวดเร็ว

TH.2023.38805.GLU.1 (v1.0) ©2023Abbott

บทความที่เกี่ยวข้อง