เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์

เบาหวานระหว่าง
ตั้งครรภ์

Banner
Banner
Banner

ความชุก (Prevalence) ของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์พบได้ประมาณร้อยละ 1-14 ในสตรีตั้งครรภ์  สาเหตุของภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ยังไม่เป็นที่ทราบแน่นอน แต่พบว่าขณะตั้งครรภ์รกมีการสร้างฮอร์โมน human placental lactogen (hPL) รวมทั้งมีฮอร์โมนอีกหลายชนิดเพิ่มขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน (insulin resistance) และเกิดโรคเบาหวานขึ้น

หญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ ยกเว้นหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่ำได้แก่ อายุน้อยกว่า 25 ปี  และน้ำหนักตัวก่อนการตั้งครรภ์ปกติ  ไม่มีประวัติเบาหวานในครอบครัว และไม่เคยมีประวัติการตั้งครรภ์ผิดปกติมาก่อน   หญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงแนะนำให้ตรวจคัดกรองเบาหวาน เมื่อฝากครรภ์ครั้งแรก ถ้าผลปกติ ให้ตรวจซ้ำใหม่เมื่ออายุครรภ์ได้ 24-28 สัปดาห์

ภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์นี้ หากไม่ได้รับการควบคุมที่ดีจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังนี้

  • ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ (Gestational hypertension)
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • เพิ่มโอกาสคลอดทางหน้าท้องมากขึ้น (Caesarean delivery)
  • ภาวะทารกตัวโต (Macrosomia)
  • ภาวะคลอดติดไหล่ (Shoulder dystocia)
  • เพิ่มอัตราตายในเด็กแรกเกิด (Perinatal death)
  • ภาวะทารกน้ำตาลในเลือดต่ำภายหลังการคลอด (Neonatal hypoglycemia)
  • สตรีที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานในอนาคตเพิ่มขึ้นถึง
    7 เท่า

การปฏิบัติตัวเพื่อการคัดกรองเบาหวานสำหรับหญิงตั้งครรภ์

ให้ผู้รับการทดสอบรับประทานอาหารอย่างปกติ โดยไม่จำกัดอาหารข้าวแป้งและน้ำตาล (ข้าวและแป้ง 8 ทัพพีต่อวันและ ผลไม้ตามปกติ) เป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 3 วันก่อนวันทดสอบ

เช้าวันทดสอบให้ผู้รับการทดสอบดื่มสารละลายกลูโคส 50 มิลลิลิตร และเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับพลาสมากลูโคสหลังดื่มสารละลายกลูโคส 1 ชั่วโมง

ให้ผู้รับการทดสอบรับประทานอาหารได้ตามปกติและมารอรับฟังผลการตรวจจากแพทย์

ข้อควรสังเกต: ขณะรอเจาะเลือดตรวจวัดระดับพลาสมากลูโคส หลังดื่มสารละลายกลูโคส 1 ชั่วโมง ควรนั่งหรือนอนพักผ่อนให้สบาย ไม่ควรเดินหรือทำกิจกรรมใด ๆ ที่ทำให้เกิดความเครียดและใช้พลังงาน ถ้าผลเลือดจากการตรวจคัดกรองคือ ≥ 140 มก./ดล. ถือว่าผิดปกติ ต้องทำการทดสอบต่อด้วย oral glucose tolerance test (OGTT)

การดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์

ผู้ป่วยเบาหวานสามารถตั้งครรภ์ได้ ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเข้มงวดก่อนที่จะตั้งครรภ์อย่างน้อย 2-3 เดือน และตลอดระยะเวลาตั้งครรภ์ และระดับ HbA1C ก่อนการตั้งครรภ์ควรน้อยกว่า 6.5% ผู้ป่วยควรได้รับการประเมินโรคหรือภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดจากโรคเบาหวาน ได้แก่  การตรวจจอตา การทำงานของไต ระบบหัวใจและหลอดเลือด  การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิดและเข้มงวดมีความจำเป็นตลอดการตั้งครรภ์ โดยเน้นการปรับอาหาร กิจวัตรประจำวัน ยา และการติดตามระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด

ผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานที่ตาและไตในระยะต้น ไม่เป็นอุปสรรคต่อการตั้งครรภ์  แต่ถ้าเบาหวานขึ้นตาระยะ proliferative diabetic retinopathy ควรได้รับการรักษาก่อนที่จะตั้งครรภ์ เนื่องจากขณะตั้งครรภ์ภาวะนี้อาจรุนแรงมากขึ้นจนเป็นอันตรายได้  ในระหว่างการตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจจอตาโดยจักษุแพทย์เป็นระยะ ส่วนผู้ที่เป็นเบาหวานกระทบไต diabetic nephropathy ระยะต้นของการตั้งครรภ์อาจพบว่ามีโปรตีนรั่วทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น และพบความดันสูงโลิหิตได้บ่อยถึงร้อยละ 70 หลังคลอดการทำงานของไตจะกลับมาสู่ภาวะปกติก่อนการตั้งครรภ์

การปฏิบัติตัวในการทดสอบ OGTT 100 กรัม เพื่อการวินิจฉัยเบาหวานสำหรับหญิงตั้งครรภ์

ให้ผู้รับการทดสอบรับประทานอาหารอย่างปกติโดยไม่จำกัดอาหารข้าวแป้งและน้ำตาล (ข้าวและแป้ง 8 ทัพพีต่อวันและ ผลไม้ตามปกติ) เป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 3 วันก่อนวันทดสอบ

ควรงดอาหารและน้ำดื่มอย่างน้อย 8-14 ชั่วโมง

เช้าวันทดสอบเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับพลาสมากลูโคสหลังอดอาหาร

ให้ผู้รับการทดสอบดื่มสารละลายกลูโคส 200 มิลลิลิตรหมดภายในเวลา 5 นาที และเจาะเลือดตรวจวัดระดับพลาสมากลูโคสทุก 1 ชั่วโมงจำนวน 3 ครั้ง หลังดื่มสารละลายกลูโคสเป็นชั่วโมงที่ 1, 2 และชั่วโมงที่ 3 ตามลำดับ

ให้ผู้รับการทดสอบรับประทานอาหารได้ตามปกติและมารอฟังผลการตรวจจากแพทย์

ข้อควรสังเกต: ขณะรอเจาะเลือดตรวจวัดระดับพลาสมากลูโคส หลังดื่มสารละลายกลูโคส ในชั่วโมงที่ 1, 2 และชั่วโมงที่ 3 ควรนั่งหรือนอนพักผ่อนให้สบาย ไม่ควรเดินหรือทำกิจกรรมใด ๆ ที่ทำให้เกิดความเครียดและใช้พลังงาน

การดูแลเมื่อตั้งครรภ์และมีภาวะเบาหวาน

ควรได้รับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงภาวะปกติมากที่สุด ส่วนวิธีการควบคุมน้ำตาลที่สำคัญ ได้แก่ การควบคุมอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลอย่างเข้มงวด และสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ  แต่หากการควบคุมดังกล่าวไม่ได้ผลก็จำเป็นต้องใช้ยาอินซูลินฉีดเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด   

ในการควบคุมอาหารนั้น สตรีตั้งครรภ์ควรลดอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต โดยมีหลักการการควบคุมอาหาร ดังนี้

หลีกเลี่ยงอาหารมื้อใหญ่ มื้อเดี่ยวโดยควรแบ่งเป็น 3 มื้อหลัก สลับมื้ออาหารว่าง 3 มื้อ

รับประทานอาหารที่ให้พลังงาน จากกลุ่มโปรตีน ไขมัน หรือคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง เป็นต้น

เพิ่มอาหารจำพวกโปรตีน (เนื้อสัตว์) และผักให้มากขึ้น โดยเฉพาะผักจำพวกใบเพราะมีใยอาหารและวิตามินมาก ส่วนนมนั้นควรรับประทานนมสดชนิดจืดและพร่องมันเนยหรือขาดมันเนย ควรงดหรือหลีกเสี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด   

ตรวจระหว่างฝากครรภ์ แพทย์อาจนัดตรวจครรภ์บ่อยกว่าปกติเพื่อประเมินภาวะสุขภาพของทั้งมารดาและทารก รวมทั้งตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อประเมินและปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสม

กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาอินซูลิน ฉีดเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอาจจำเป็นต้องรับเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสม รวมทั้งแนะนำการฉีดยาอินซูลินด้วยตนเองอีกด้วย การใช้ยาดังกล่าวจะทำเฉพาะในรายที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก ซึ่งไม่สามารถควบคุมด้วยอาหารได้เท่านั้น

เมื่อถึงระยะคลอด สตรีตั้งครรภ์ส่วนใหญ่สามารถคลอดได้เองตามปกติ ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นที่รุนแรง ส่วนการผ่าท้องคลอด แพทย์จะทำในกรณีที่มีข้อบ่งชี้เท่านั้น ภายหลังคลอดส่วนใหญ่แล้วการดำเนินโรคของภาวะเบาหวานจะดีขึ้นเอง ไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเป็นพิเศษเพิ่มเติม แต่อย่างไรก็ตามสตรีที่มีภาวะเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานในอนาคตสูงกว่าสตรีที่ตั้งครรภ์ปกติจึงจำเป็นต้องดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ควบคุมอาหารและออกกำลังกายเป็นประจำ รวมทั้งควรตรวจหาการเกิดโรคเบาหวานอย่างสม่ำเสมอทุกปี

จะเห็นว่าภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ได้ แต่หากได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ก็จะสามารถช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่างๆ

TH.2023.38595.GLU.1 (v1.0) ©2023Abbott

บทความที่เกี่ยวข้อง